วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สังคมและวัฒนธรรมของบ้านขอม



ตำบลมหาสอนประชากรบ้านขอม ตำบลมหาสอน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบท เรียบง่าย ประกอบอาชีพทำนา เมื่อว่างจากการทำนาจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมด้านงานจักสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและปัจจุบันก็ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานที่มีความสนใจไว้เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีมีความสุข สังคมของบ้านขอมเป็นสังคมที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันตามแบบฉบับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท ซึ่งปัจจุบันนี้จะหาไม่ได้ในเมืองใหญ่ ๆ แต่เดิมคนในหมู่บ้านจะไม่นิยมแยกครอบครัวจากพ่อแม่ แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อเยาวชนเรียนจบและประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านจะมีการแยกครอบครัวออกไปหรือเมื่อแต่งงานก็จะนิยมแยกครอบครัวไม่รวมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่เหมือนแต่ก่อน ผู้สูงอายุหลายคู่จึงต้องมีชีวิตอยู่กันตามลำพังแต่บุตรหลานก็ไม่ได้ทอดทิ้ง จะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ในวันหยุด หรือวันเทศกาลต่าง ๆ ชาวบ้านขอม ตำบลมหาสอน ส่วนใหญ่มีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธและร่วมงานพิธีต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

3.ประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน ตำบลมหาสอน

เครื่องจักสาน เป็นการงานช่างฝีมือพื้นบ้านของชาวบ้านตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เกิดขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2495 โดย คือคุณป้าโถม ศรีวิฑรูย์ เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่
นางชะลอ ทนทองคำ เมื่อนางชลอ ทนทองคำ ได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่สมัยเด็ก ก็ได้ฝึกการทำตะกร้าหวายจนมีความชำนาญ จึงได้ถ่ายทอดต่อให้กับลูก หลาน และผู้สนใจในหมู่บ้าน ต่อมาจึงร่วมกันคิดจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ขึ้น ชื่อกลุ่มจักสานตะกร้าหวายลายวิจิตร ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 6 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และนางชะลอ ทนทองคำ เป็นประธานกลุ่ม ผลิตผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนได้รับคัดสรรให้เป็นสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ 4 ดาว OTOP เมื่อปี พ.ศ ๒๕๔๖ และได้รับ ระดับ 5 ดาว เมื่อปี พ.ศ. 2549
ตะกร้าหวายลายวิจิตร บ้านขอม ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาจากชาวบ้านตำบลมหาสอนที่เสี่ยงต่อการสูญหาย หรืออาจสูญหาย ได้

วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน

5.1 ไผ่สีสุก 5.2 หวายหอม และหวายหิน
5.3 ดิ้ว (ตอกตั้ง) 5.4 ไม้สัก
5.5 กระดาษทราย และ เหล็กหมาด
ไผ่สีสุก มีลักษณะเป็นไผ่ที่มีลำต้นสูงใหญ่ เนื้อหนา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำ 7-10 เซนติเมตร
ปล้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จำนวนปล้องประมาณ 50 ปล้อง อยู่รวมกันเป็นกอๆ แน่นหนามากมีกิ่งข้อคล้ายหนาม ลำต้นตรงสีเขียวสด โคนต้นสีเขียวอมเทาหน่อมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้นได้ดีในดินเหนียว ปนทรายหรือดินร่วนในพื้นที่ราบต่ำ ริมแม่น้ำลำคลอง ปลูกง่าย จะพบว่าปลูกอยู่ทั่วๆ ไป ในภาคกลางและภาคใต้

ประโยชน์
ลำต้น ใช้ในการก่อสร้างทำส่วนต่างๆ ของบ้านเรือนทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์งานหัตถกรรมต่างๆ โคนไม้ไผ่นิยมใช้ทำคานหามกันมาก เพราะเนื้อหนาและทนทานหน่อใช้ประกอบ
อาหาร
การเตรียมไม้ไผ่เพื่อทำผลิตภัณฑ์ และทำผลิตภัณฑ์ให้ทนทาน
การตัดไผ่ควรตัดในฤดูร้อนหรือต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ไผ่หยุดการเจริญเติบโต ส่วนฤดูฝนไผ่จะเจริญเติบโต ในระยะนี้จะมีแป้งและแร่ธาตุไข่ขาวอย่างหยาบๆ ถ้าตัดไผ่ฤดูนี้อาจเกิดอันตรายจากแมลง และเชื้อราในดิน ส่วนในฤดูหนาวไผ่ไม่เจริญเติบโต และอาจจะแข็งแกร่งขึ้น ไม่เปราะแตกร้าวง่าย ศัตรูของไผ่ คือ ด้วง ไม้ไผ่ซึ่งชอบเกาะดินยอดอ่อนของหน่อไผ่ และอาจมีมดแดงปลวกแดงทำลายหน่อได้ การเก็บถนอม ไม้ไผ่ควรเก็บไว้ในที่แห้งๆ จะมีข้อเสียหายน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องตัดไผ่ที่มีอายุเพียงพอ คือ อายุ 3 ปี ขึ้นไป และตัดถูกฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ ไม้ไผ่ที่ตากแห้งสนิทดีภายหลัง ที่ต้มในน้ำร้อน 10 นาที จะทนไปได้นานหลายเท่าของไม้ไผ่ ธรรมดาที่เก็บโดยไม่ต้ม วิธีป้องกันแมลง โดยใช้ยาเคมี เช่น บอร์แรกซ์ โซดาไฟ สารส้มคอปเปอร์ซัลเฟต เป็นต้น ขจัดธาตุแป้ง และธาตุไข่ขาวซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแมลงและเชื้อราอกเส้น วิธีรมแก๊สก็จะป้องกันแมลงได้ หรือโดยวิธีสกัดความชื้น และแบคทีเรียในอากาศ
หวายหอม เป็นหวายลำเล็กๆ ผิวสวยสีขาว เหลืองนวลเป็นมัน เนื้อในขาว ละเอียดเป็นหวายที่
เหนียวจักเหลาเกลาได้ง่าย ผิวริมนอกจักเจียนเป็นเส้น เหมาะสำหรับถักมัดผูก กับเนื้อในเรียกว่าขี้หวายเจียนเป็นเส้นกลมใช้สานเป็นสิ่งของต่างๆ ได้ และย้อมสีก็ได้
ประโยชน์
หวายลำต้นโตส่วนมากใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ แบบต่างๆ สำหรับที่มีขนาดลำต้นเล็กใช้จักเป็นตอกผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า กระเป๋า ถาดผลไม้ เครื่องตกแต่งภายในบ้าน ปัจจุบันตะกร้าหวายเป็น
สินค้าที่นิยมมาก เนื่องจากมีลักษณะเบาแข็งแรง
ดิ้ว (ตอกตั้ง) เป็นไม้ไผ่ชนิดเดียวกับไผ่สีสุกแต่เนื้ออ่อนกว่า

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

7.1 มีดโต้ เป็นมีดที่ใช้สำหรับตัดไม้มีขนาดใหญ่สันหนาน้ำหนักมาก ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร มี 2 ชนิดคือ ชนิดสันโค้ง และสันตรง
7.2 มีดตอกเป็นมีดทรงเรียวแหลม คมมีดโค้งมน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานส่วนใหญ่ช่างจักสานมักต่อด้ามยาวออกไปประมาณ 60 ซ.ม. เพื่อสามารถสอดเข้าไปขัดไว้ในซอกแขนช่วยให้การบังคับคมมีดดีขึ้นมีดจักตอกมักมีน้ำหนักเบา ค่อนข้างบาง ใช้จักตอกให้เป็นเส้น ช่างจักสานมักใช้เป็นมีดประจำตัว
7.3 เลื่อยลันดา เป็นเลื่อยใช้งานทั่วไปใช้สำหรับตัดหรือฝ่าไม้ตามความต้องการ ใช้งานเมื่อให้
ปลายไม้ทั้งสองเรียบเสมอกัน เวลาใช้ควรวางเลื่อยให้ได้ 60 องศา กับงานในการใช้เลื่อยต้องใช้เลื่อยที่ฟันละเอียดคม
7.4 เลียด คือ เครื่องมือชักหวายให้ได้เส้นตามขนาดที่ต้องการ หรืออาจทำขึ้นเองจากวัสดุที่ทำจาก สังกะสีหรืออลูมิเนียม เช่น จานกิโล,จานสังกะสี บ้างเรียกว่า รูร้อยหวาย ทำด้วยเหล็ก นำมาเจาะรูขนาดต่างๆ ตามต้องการใช้สำหรับสอดร้อยหวายเข้าไป เพื่อลบความคมและช่วยให้หวายมีขนาดเท่ากัน
7.5 หินลับมีด เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีดคมอยู่เสมอ ซึ่งมีความสำคัญมากในการจักตอก
7.6 กระดาษทราย เป็นแผ่นเนื้อคายเหมือนทราย ไว้สำหรับขัดตะกร้าไม้สักให้เรียบเป็นมันหรือขัดหวายที่เป็นขนให้หลุด เพื่อความสวยงามในการสาน
7.7 ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อน ลวดลายสวยงาม และทนทาน เหมาะที่จะใช้งานในการทำก้นตะกร้า
7.8 ตะปูเข็ม คือตะปูตัวเล็กที่สุด เหมาะที่จะใช้งานตอกหวายติดกับไม้สักเพื่อใส่คิ้ว (ตอกตัว) ให้ติดแน่นไม่หลุดและมีอายุการใช้งานได้นาน
7.9 เหล็กหมาด มีลักษณะเป็นเหล็กแหลมยาวประมาณ 4 นิ้ว มีด้ามขนาดเหมาะมือที่ทำหน้าที่
เจาะรู และประกอบการจักสาน อาจจะทำจากเหล็กเส้น หรือลวดที่มีความแข็ง ซี่ล้อลวดจักรยานโครงร่ม ที่ใช้แล้ว นำมาฝนให้แหลม เหล็กหมาด 2 ชนิด คือ ชนิดปลายแหลมและชนิดปลายแบนชนิดปลายแหลมใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นหวายส่วนชนิดปลายแบนใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นตอก
7.10 ค้อนหงอน ค้อนขนาดเล็กเหมาะสมสำหรับการจัดสาน ใช้ตอกตะปูถอนตะปูหรือตอกไม้เวลาประกอบชิ้นงาน

ขั้นตอนกระบวนการผลิต / วิธีทำ


ขั้นตอนเตรียมการ
1. ดิ้ว (ตอกตั้ง) ทำด้วยไม้ไผ่ เหลาให้เหล็กตามขนาดของหวายที่ใช้สาน
2. หวายสานถักและพันตามส่วนต่างๆ ของตะกร้า
3. ไม้ทำก้นตะกร้าใช้ไม้เนื้ออ่อน ดีที่สุดใช้ไม้สัก
4. ขอบตะกร้าใช้ไม้ไผ่ เหลาตามขนาดของตะกร้าโค้งตามรูปทรง ใส่ขอบและมัดเพื่อให้อยู่ตัวไม่หลุดพังง่าย
5. งวงตะกร้า ทำด้วยลวดเส้นใหญ่ตามขนาดของตะกร้า
6. มือจับตะกร้า (สำหรับใช้มือจับหิ้ว)
7. มีดโต้
8. เตรียมมีดตอก
9. เตรียม เลื่อย
10. เลียด
11. หินลับมีด
12. เศษผ้าสำหรับพันนิ้วมือ
13. ค้อนหงอน

ขั้นการผลิต

1. รูปแบบตะกร้า (รองตะกร้า) สร้างขึ้นด้วยไม้ตามแบบที่เราต้องการ ถ้าทรงเหลี่ยมข้างในจะกลวงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ถ้ารูปไข่ และทรงกลม ข้างในจะตันทำด้วยไม้ก้ามปูหรือไม้เนื้ออ่อนอื่นๆ
2. เหลาหวายและดิ้วเป็นการทำให้หวาย และไม้ไผ่มีขนาดพอเหมาะที่จะใช้ในการสานตะกร้า หวายเหลาเป็นเส้นยาว เล็กและยาว ไม้ไผ่เหลาเล็กบางพอดีกับหวายเรียกว่า ดิ้ว ใช้สำหรับทำตอกตั้งในการสานตะกร้าควรมีความพยายามและมีความรับผิดชอบจึงจะได้หวายและดิ้วที่มีคุณภาพ เพียงพอที่จะสานตะกร้าได้สำเร็จ
3. นำไม้หวายมาเหลาให้เป็นเส้น
4. นำเข้าเครื่องชักหวาย หรือ เลียด เพื่อให้เป็นตามขนาดที่ต้องการ หรือใช้ ฝาหม้อ หรือจานสังกะสี
นำมาเจาะรูไล่ขนาดเล็ก ใหญ่ ขนาดใหญ่เท่ากับเส้นหวาย ไล่ลำดับขนาด เล็กลงไปจนเท่ากับเส้นด้าย
5. นำไม้ไผ่สีสุก เหลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (เรียกว่าดิ้ว) นำไปต้มเพื่อย้อมสี (สีที่ใช้เป็นสจากธรรมชาติ) คือ ขมิ้น ผิวมะกรูด ประมาณ 1 ลูก ขมิ้นทุบรากยอ ให้สีเหลือง เปลือกลำต้นคาง (ต้ม) ให้สีน้ำตาล
ส่วนผสมของสี
เกลือ 1 กำมือ
มะกรูด 2-3 ลูก
น้ำ ประมาณ 2 ขัน
ขมิ้นทุบ ประมาณ ½ กก.
ต้มให้เดือด น้ำสีจะออกมา ใส่เส้นดิ้วลงไปต้มนาน ½ ชั่วโมง
6. นำเส้นคิ้วไปล้างให้สะอาด จนน้ำใสกันสีตก จากนั้นนำไปตากแห้ง
7. นำไม้สักขนาดที่เราต้องการหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร เลื่อยตามรูปทรงของตะกร้าทำเป็นก้นตะกร้า จากนั้นนำเส้นหวายมาตอกตะปู ติดกันได้ก้นตะกร้าโดยรอบ
8. นำปั้นจั่น หรือ หลัก (ทำขึ้นเอง ใช้ต่อกับแบบหรือรองเพื่อยึดรูปทรงตะกร้าตามแบบ)
9. นำเส้นดิ้วมาเสียบกับก้นตะกร้าโดยรอบ
10. นำเส้นหวายมาจักสานตามลายที่เราต้องการ

รูปทรงตะกร้า


1. แบบหกมุม 2. แบบรูปไข่
3. แบบทรงกลม 4. แบบสี่เหลี่ยม
5. แบบทรงเปล 6. แบบแปดมุม
7. ลายคชกริช 8. ลายผีเสื้อ
9. ลายมะลิซ้อน 10. ลายบานชื่น
11. ลายดาวเรือง 12. ลายบานไม่รู้โรย
13. ลายพิกุลล้อม 14. ลายผ้าสไบ
15. ลายไทย ,ลายทานตะวันเล็ก 16. ลายดอกชบา
17. ลายทานตะวัน 18. ลายจีน
19. ลายพานรัฐธรรมนูญ 20. ลายหยกมณี
21. ลายเม็ดพริกไทย 22. ลายใบตำลึง
23. ลายกนก 24. ลายพาน
25. ลายดอกรักทักษิณ 26. ลายดอกเข็ม
27. ลายนกเขาคู่ 28. ลายคุณนายตื่นสาย

ลวดลายพื้นฐาน

ถือเป็นลายแม่บท สำหรับจักสานทั่วไป ช่างจักสานทุกคนที่จะทำงานจักสานจะต้องเรียนรู้ลวดลาย
แม่บท ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ลวดลาย โดยสามารถสานได้อย่างแม่นยำเสียก่อนจึงจะข้ามไปใช้ลวดลายอื่นๆ ลวดลายแม่บท ซึ่งเป็นลวดลายที่มีกฎเกณฑ์ตามตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีดังนี้
1. ลายขัด คือ ลายที่ยก 1 ข่ม 1 สลับกันเรื่อยไป
2. ลายสอง คือ จะมีขึ้นตอนการสานดังนี้
การสานเส้น 1 เริ่มจากตอก 8 เส้น เป็นเส้นตั้งข้ามไป 1 เส้น สานยกไป 2 เส้นข้าม 2 เส้น ยก 2 เส้น ข้าม 1 เส้น
การสานเส้นที่ 2 ข้าม 2 เส้น ยก 2 เส้น

การสานเส้นที่ 3 ยก 1 เส้น ข้าม 2 เส้น ยก 2 เส้น ข้าม 2 เส้น ยก 1 เส้น
การสานเส้นที่ 4 ยก 2 เส้น ข้าม 2 เส้น ยก 2 เส้น ข้าม 2 เส้น
3. ลายสาม เป็นลายที่ดัดแปลงเพิ่มจากลายสอง การสานใช้ตอก 8 เส้น เป็นเส้นตั้ง
เส้น 1 ข้าม 3 ยก 3 ข้าม 2
เส้น 2 ยก 1 ข้าม ยก 3 ข้าม 1
เส้น 3 ยก 2 ข้าม 3 ยก 3
เส้น 4 ยก 3 ข้าม 3 ยก 2
เส้น 5 ข้าม 1 ยก 3 ข้าม 3 ยก 1
เส้น 6 ยก 2 ข้าม 3 ยก 3
4. ลายตาหลิว อาจจะเรียกต่างกันไปตามพื้นถิ่น เช่น ลายตาชลอม ลายชะหมู ลายตาหลิว เป็นลายดัดแปลงมาจากพื้นฐานโดยเพิ่มตอกขัดทแยงเป็นลายดอกขิง ลายดอกจัน ลายดอกพิกุล ลายตาชลอม
5. ลายขอ เป็นลายสำหรับสานกระด้ง โดยใช้ไผ่สีสุกสานเพราะเป็นไผ่ที่เหนียวไม่เปราะ
6. ตะบองหยอง เป็นลายกระด้งที่ใช้กันทางภาคใต้ ใช้เก็บพริก กาแฟ ข้าวเปลือก

การทาน้ำมันเคลือบ

11.1 การทาน้ำมันเคลือบครั้งที่ 1 เมื่อยังอยู่ในรอง เพื่อให้อยู่ทรงทาพอหมาดๆ ก็เอาออกจากกรองปล่อยไว้ให้น้ำมันแห้งไม่ได้ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง รีบเหลาขอบและใส่ไว้เลยไม่ทิ้งไว้นาน จะทำให้เนื้อตะกร้าหลุดออกมาได้ แปรงที่ใช้ทาน้ำมันเมื่อใช้แล้วควรล้างด้วยทินเนอร์
11.2 การทาน้ำมันครั้งที่ 2 เมื่องานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำไปจำหน่ายการทาน้ำมันนอกจากจะทำให้อยู่ทรงแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อรา และมอดกัดแทะ ช่วยรักษาเนื้อไม้ หวายให้มีความแข็งแรงทนทาน และสวยงามมากขึ้น

การใส่ขอบตะกร้า


เหลาไม้แล้ววัดเนื้อตะกร้าใช้ดินสอขีดไว้ ให้เท่ากันทุกด้านใส่ขอบในก่อนแล้ว
จึงเอาขอบนอกทาบนำคีมล็อคช่วยจับไว้ใช้ลวดเบอร์เล็กสุดมัดไว้ให้แน่น ทำโดยรอบก็สำเร็จเป็นรูปลายตะกร้า การใส่ขอบระวังอย่าให้ข้อไม้ไผ่ตรงกับมุมตะกร้า เมื่อใช้คีมบีบโค้งทำมุมจะทำ ให้ขอบหักได้ควรหลีกเหลี่ยงแต่ถ้าตะกร้าเป็นรูปไข่หรือทรงกลมต้อง เหลาและโค้งไว้ก่อนเพื่อให้ใส่ขอบตะกร้าได้ง่ายขึ้น
การถักตะกร้าใช้หวาย 1 เส้นถัก มีหวายวางบนขอบตะกร้า 2 เส้น เพื่อให้ลายขอบบนนูนสวย
มีขั้นตอนการทำดังนี้
1. หวายถักสอดระหว่างขอบนอกและขอบใน
2. แทงทะลุพัน 1 รอบ ข่มหวายกลมที่อยู่บนขอบเส้น 1 ยกเส้น 2 (2 ครั้ง)
3. นำไปสอดหลังหวายที่พัน 1 รอบมาทะลุหลังเส้นหน้า แล้วข่มเส้น 1 ยกเส้น 2
ใช้นิ้วหัวแม่มือช่วยกดหวายเส้นไว้ให้มีระยะเท่ากัน การใส่วงตะกร้า ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของตะกร้า เลือกรูปแบบการทำวงตะกร้าและขนาดลวดตามความเหมาะสม นำลวดไปขดกับแท่นสำหรับโค้งลวดตามต้องการการนำปลายลวดไปขดกับแท่นสำหรับโค้งลวดตามความต้องการนำปลายลวดไปตีด้วยค้อนหงอนกับแท่นเหล็กดันให้ลวดแบนใช้เหล็กหมดเจาะรูที่ก้นตะกร้าเป็นจุดที่เราใส่ลวดงวงตะกร้า ลงไปแล้วใช้คีมบีบลวดให้งอเข้า ไปด้านในจะได้ไม่หลุด
การพันงวงตะกร้า คือ การนำหวายมาพันรอบเส้นลวด (งวงตะกร้า) พันงวงตรงเนื้อตะกร้า
ประมาณ 3 ที่เป็นระยะจนพ้นเนื้อตะกร้า พันให้ครบทุกงวงพันเสร็จ 1 งวงนำกระดาษกาวติดไว้ไม่ให้หวายที่พันไว้หลุด
การเหลาไม้ทำมือจับ ใช้ไม้ไผ่สีสุกที่เป็นไม้แก่ เพื่อความทนทาน เหลาไม้มีขนาดเหมาะสมกับตะกร้า วางทาบบนงวงที่กำหนดไว้ให้เป็นมือจับ นำหวายมาพันทับไม่ให้เห็นไม้แล้วถักหวายบนมือจับให้สวยงาม

วิธีการใส่งวงและการพันงวงตะกร้า

ใช้ลวดเส้นใหญ่ดัดงวงตามรูปแบบที่ชอบปลายขาของงวงใช้ค้อนหงอนตีลวดให้แบนวัดความยาวของงวงตะกร้าตามที่ต้องการใส่งวงตะกร้าตามจุดที่เราเจาะไว้บริเวณก้นตะกร้าใช้คีมบีบลวดปลายขางวงตะกร้าให้งอเพื่อกันไม่ให้งวงหลุดจากตะกร้าทำให้ตะกร้า สง่างามมีคุณค่า เป็นที่มือจับหิ้วสวยงาม ป้องกันไม่ให้ลวดเป็นสนิม ใช้ค้อนหงอนตีกับแท่นเหล็กตัน

วิเคราะห์กรอบแนวความคิดในการศึกษาค้นคว้า

ชาวบ้านขอม มีความเชื่อ เรื่องเทวดาให้ฝน เนื่องด้วยชาวตำบลมหาสอนส่านมากทำอาชีพทำนา เสร็จจากนา จักสาน เครื่องใช้ในครัวเรือนอันเป็นบริบทของสังคมโบราณที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้าน และ การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา จะเริ่มจากบุคคลในครอบครัวถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน จากการสืบค้นพบใน ปี พ.ศ.2495 มีการฝึกทำตะกร้าหวายจนมีความชำนาญ ได้มีการถ่ายทอดต่อให้กับลูก หลาน และผู้สนใจในหมู่บ้าน และรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์สานตะกร้าหวายลายวิจิตร ตั้งอยู่ ณ บ้านขอม หมู่ที่ 6 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมี นางชลอ ทนทองคำ เป็นประธานกลุ่ม ผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนได้รับคัดสรรให้เป็นสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ 4 ดาว OTOP เมื่อปี พ.ศ. 2546 และ ระดับ 5 ดาว เมื่อปี พ.ศ. 2549

วิเคราะห์
จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านขอมในอดีตที่เป็นเมืองโบราณ มีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพในการทำนา เมื่อว่างจากนา จะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมด้านงานจักสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และปัจจุบันก็ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานที่มีความสนใจไว้เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีมีความสุข เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันตามแบบฉบับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท
รูปการในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านขอม ที่มุ่งเน้นการผลิตเครื่องจักรสานไว้ใช้ในครัวเรือน ทำในเวลาว่าง แต่ปัจจุบันปรับรูปแบบเป็นผลิตเพื่อการค้าเป็นรายได้ในครัวเรือนและภูมิปัญญาในการผลิตสินค้าจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งสู่การพัฒนาตามความต้องการของตลาด มีการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปแบบเครื่องจักสานดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์ได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย โดยที่ภูมิปัญญาเป็นผลึกขององค์ความรู้ที่มีกระบวนการสั่งสม สืบทอด กลั่นกรองกันมายาวนาน ที่มี
มาหลากหลาย เป็นเรื่องที่สั่งสมมาแต่อดีต เป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ แวดล้อม คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีต ประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านั้น
จากองค์ความรู้ที่มีการถ่ายทอดและมีการสืบทอด เป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ เมื่อมีพัฒนา เลือกสรร ปรับปรุง เหมาะสมกับพื้นที่ สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม มีการแก้ปัญหาพัฒนาวิถีชีวิตจึงเกิดเป็นภูมิปัญญาอันเป็นวัฐจักรวงจรในวิถีชีวิต ทุกอาชีพ มิได้มุ่งอยู่เพียงในชุมชนและการสืบทอดกันเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ วัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้ในสังคม อันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ที่บรรพชนได้สั่งสมมา


2. คุณค่า ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณค่า “Value” หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรมในทางที่ดี ไม่ดี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมที่ดีมักได้รับการยกย่องคุณค่า จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินค่าพฤติกรรมของคนในสังคม ซึ่งอาจเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคมก็ได้
คุณค่าทางสังคม เป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งนั้นก็เป็นที่ปรารถนาของคนในสังคมว่า อยากเดินทางให้ไปถึงจุดนั้น อยากให้มี อยากให้เกิดกับตนและครอบครัว
คุณค่า คือ สิ่งที่คนสนใจ ปรารถนาจะได้ ปรารถนาจะเป็น หรือกลับกลายเป็นสิ่งที่คนบูชา ยกย่อง และมีความสุขที่อยากจะเห็น ได้ฟัง ได้เป็นเจ้าของ
ดังนั้น คุณค่า คือ ความเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะถาวร เชื่อว่า เป็นวิถีปฏิบัติบางอย่าง หรือเป้าหมายของชีวิตบางอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ตัวเขา หรือสังคมเห็นดี เห็นชอบ สมควรที่จะยึดถือปฏิบัติมากกว่า มากกว่าวิธีปฏิบัติหรือเป้าหมายชีวิติอย่างอื่น
โดยที่งานจักสานช่างฝีมือพื้นบ้านของบ้านขอม ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีเอกลักษณ์ เกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่นำวัตถุดิบใน ท้องถิ่นมาประดิษฐ์ มุ่งเน้นความละเอียดอ่อน ปราณีต ในงานฝีมือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยมีปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภูมิปัญญา ดังนี้
1. ความรู้เดิมในเรื่องการจักสาน ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ
2. การสั่งสม การสืบทอดของความรู้ในเรื่องการจักสาน
3. ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ใหม่ได้
4. รากฐานทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ
โดย คุณค่าของงานช่างฝีมือพื้นบ้าน ผ่านการกลั่นกรองความรู้เดิมผสมผสานกับความรู้ใหม่ด้านลวดลายที่บรรจงแต่งแต้มบนงานฝีมือ เป็นสิ่งที่สนใจแก่ผู้พบเห็น มีความปรารถนา จะได้เป็นเจ้าของ สะท้อนมุมมองถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย บริบทในชุมชน ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยปรากฏลวดลายที่เกี่ยวกับลวดลายทางพระพุทธศาสนา สะท้อนชีวิตมุมมองในสังคมของชาวบ้านขอมได้เป็นอย่างดี ที่มีลวดลายอ่อนช้อย มีคุณค่าทางจิตใจ ที่สังคมได้สร้างขึ้นมา และได้รับการประเมินค่าว่า เป็นสิ่งดีงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว
และระดับ 5 ดาว หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย โดยที่กระบวนการสั่งสม สืบทอด กลั่นกรองกันมายาวนานเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ แวดล้อม เพราะพื้นที่ในชุมชนมีไม่ไผ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตนำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน มีการพัฒนา ปรับปรุง มีกระบวนการบริหารจัดการเป้นกลุ่มผู้ผลิต มิได้เพียงมุ่งอยู่ในครัวเรือน หรือ ท้องถิ่น กับนำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้สู่สังคมภายนอก เมื่อได้รับการพัฒนาและส่งเสริม จนภูมิปัญญาเหล่านั้นตกผลึกเป็นภูมิปัญญาไทย โดยมีการสืบทอด พัฒนา องค์ความรู้ในการจักสาน สร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบตรงตามความต้องการของตลาด แต่มุ่งความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานฝีมือพื้นบ้านชาวบ้านขอม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีการสืบทอดกันมา
3. แนวทางเสริมสร้างเพื่อใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง พื้นเพ รากฐานของความรู้ชาวบ้าน ซึ่งได้รับการศึกษา อมรม สั่งสม และถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ หรือ เป็นความรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งได้เรียนรู้จากการทำงานจากธรรมชาติแวดล้อม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เสริมสร้างความสามารถ ทำให้คนมีชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นความรู้ที่สร้างสรรค์ และมีส่วนเสริมสร้างการผลิตภูมิปัญญา งานช่างฝีมือของชาวบ้านขอม เกิดจากการสั่งสม มีการสืบทอด และถ่ายทอด จากบรรพบุรุษ เป็นประสบการณ์ตรงได้เรียนรู้จากการทำงานจากธรรมชาติ แวดล้อม โดยที่พื้นบ้านของชาวบ้านขอมอยู่ริมน้ำบางขาม มีไม้ไผ่จำนวนมาก มีการนำไม้ไผ่มาใช้ทำเครื่องใช้ ต่าง ๆ ในครัวเรือน เครื่องมือประกอบอาชีพ และมีการพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของท้องถิ่น มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครัวเรือนสู่ชุมชนท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่ม รวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นสหกรณ์ มี การบริหารจัดการที่ดี เผยแพร่ประชาสัมพันธ์จากท้องถิ่นสู่ชุมชนเมือง จากชุมชนเมืองสู่ชุมชนประเทศ โดยได้รับการยกย่องเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว และ 5 ดาว โดยที่ภูมิปัญญาของชาวบ้านขอม สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านขอม สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านขอม มีการถ่ายทอด สืบทอด พัฒนา หากแต่ภูมิปัญญางานช่างฝีมือจักสานขาดความสนใจจากเยาวชน หรือชุมชนในท้องถิ่นแล้ว ภูมิปัญญา ดังกล่าว ก็เสี่ยงที่จะสูญหายไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ดังนั้น แนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมการศึกษาถึงคุณค่าภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีอันสำคัญของท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าอันเหมาะสมที่สามารถนำมาปรับใช้ในสังคมปัจจุบันของท้องถิ่นได้
2. ส่งเสริมการฟื้นฟู ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่มีคุณค่าให้กลับมามีความสำคัญ เป็นที่ยอมรับและนับถือเป็นวิถีชีวิตอันสำคัญของท้องถิ่น
3. ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกิจกรรมชุมชน เพื่อเผยแพร่ผลงานภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ
4. ส่งเสริมครู-อาจารย์ ศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการเผยแพร่
5. ส่งเสริมให้สถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ฝึกอบรมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน
6. ส่งเสริมองค์กรภาครัฐ องกรชุมชน และองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยใช้สื่อทุกประเภท
7. พัฒนาสมรรถนะของผู้รู้ ผู้นำชุมชน เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่ม ชมรม เพื่อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญหาย สืบค้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาสร้างองค์ความรู้นำสู่ชุมชน เป็นการถ่ายทอด และสืบสาน
8. ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว สถานบันศาสนา สถาบันการศึกษา ร่วมกันปลูกฝังถ่ายทอดวัฒนธรรมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นการรักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง
9. ส่งเสริมกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจควบคู่กับความตระหนัก เห็นคุณค่า มีความรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปใช้เป็นทางเลือกในการดำรงชีพ

4. ข้อเสนอแนะ
- ผลิตภัณฑ์จักสานตะกร้าหวายลายวิจิตร ของบ้านขอม หมู่ 6 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นงานที่มีความปราณีต ต้นทุนในการผลิตน้อย กลุ่มควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่แก่ประชาชนในหมู่บ้านให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน
- เครื่องมือวัสดุที่ใช้ในการจักสานส่วนใหญ่ เป็นวัสดุภาในท้องถิ่น บางอย่างเป็นวัสดุที่ดัดแปลงจากเครื่องใช้เก่า ๆ ส่วนสีที่ย้อมได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกคาง รากยอป่า ดังนั้น กลุ่มสานตะกร้าหวาย ควรจัดให้มีการอนุรักษ์เพื่อการใช้สอย เช่น การปลูกยอป่า เป็นต้น
- กลุ่มสานตะกร้าหวาย ได้สร้างสรรค์ และพัฒนาลวดลายดอกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน เพื่อการสืบทอดภูมิปัญญาให้กับอนุชนรุ่นหลัง ดังนั้น กลุ่มจักสานหวาย จึงควรบันทึกแบบลายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและอนุรักษ์ เช่น การจัดทำเอกสารประกอบภาพ

จากที่กล่าวมาข้างต้น หากมรดกทางวัฒนธรรมด้านภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่บรรพชน ได้ถ่ายทอดไว้ให้เป็นมรดกทางสังคม ไม่มีการสืบทอด อนุรักษ์ มรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ ก็เสี่ยงต่อการสูญหาย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแต่เราในสังคม เพียงแต่มองผ่านไป ไม่เห็นคุณค่า รากเหง้าของแก่นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมเอาไว้ มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ก็จะสูญหายไปในระยะเวลาอันใกล้ เพราะยิ่งเราชื่นชมความก้าวหน้า การพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปเท่าไร เรายิ่งมองภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางสังคมว่า ล้าสมัยไปเท่านั้น เราพร้อมหรือยัง ที่จะมองรากเหง้าแก่นแท้ทางสังคมที่มีการสืบทอดสิ่งดีงาม และให้องค์ความรู้นั้นสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อสืบทอดต่อไป หากใช้แนวทางดังกล่าวข้างต้น เชื่อแน่ว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ จะคงอยู่สู่สังคมไทยตลอดไป