วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิเคราะห์กรอบแนวความคิดในการศึกษาค้นคว้า

ชาวบ้านขอม มีความเชื่อ เรื่องเทวดาให้ฝน เนื่องด้วยชาวตำบลมหาสอนส่านมากทำอาชีพทำนา เสร็จจากนา จักสาน เครื่องใช้ในครัวเรือนอันเป็นบริบทของสังคมโบราณที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้าน และ การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา จะเริ่มจากบุคคลในครอบครัวถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน จากการสืบค้นพบใน ปี พ.ศ.2495 มีการฝึกทำตะกร้าหวายจนมีความชำนาญ ได้มีการถ่ายทอดต่อให้กับลูก หลาน และผู้สนใจในหมู่บ้าน และรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์สานตะกร้าหวายลายวิจิตร ตั้งอยู่ ณ บ้านขอม หมู่ที่ 6 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมี นางชลอ ทนทองคำ เป็นประธานกลุ่ม ผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนได้รับคัดสรรให้เป็นสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ 4 ดาว OTOP เมื่อปี พ.ศ. 2546 และ ระดับ 5 ดาว เมื่อปี พ.ศ. 2549

วิเคราะห์
จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านขอมในอดีตที่เป็นเมืองโบราณ มีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพในการทำนา เมื่อว่างจากนา จะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมด้านงานจักสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และปัจจุบันก็ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานที่มีความสนใจไว้เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีมีความสุข เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันตามแบบฉบับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท
รูปการในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านขอม ที่มุ่งเน้นการผลิตเครื่องจักรสานไว้ใช้ในครัวเรือน ทำในเวลาว่าง แต่ปัจจุบันปรับรูปแบบเป็นผลิตเพื่อการค้าเป็นรายได้ในครัวเรือนและภูมิปัญญาในการผลิตสินค้าจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งสู่การพัฒนาตามความต้องการของตลาด มีการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปแบบเครื่องจักสานดั้งเดิม อันเป็นเอกลักษณ์ได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย โดยที่ภูมิปัญญาเป็นผลึกขององค์ความรู้ที่มีกระบวนการสั่งสม สืบทอด กลั่นกรองกันมายาวนาน ที่มี
มาหลากหลาย เป็นเรื่องที่สั่งสมมาแต่อดีต เป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ แวดล้อม คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีต ประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านั้น
จากองค์ความรู้ที่มีการถ่ายทอดและมีการสืบทอด เป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ เมื่อมีพัฒนา เลือกสรร ปรับปรุง เหมาะสมกับพื้นที่ สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม มีการแก้ปัญหาพัฒนาวิถีชีวิตจึงเกิดเป็นภูมิปัญญาอันเป็นวัฐจักรวงจรในวิถีชีวิต ทุกอาชีพ มิได้มุ่งอยู่เพียงในชุมชนและการสืบทอดกันเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ วัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้ในสังคม อันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ที่บรรพชนได้สั่งสมมา


2. คุณค่า ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คุณค่า “Value” หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรมในทางที่ดี ไม่ดี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมที่ดีมักได้รับการยกย่องคุณค่า จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินค่าพฤติกรรมของคนในสังคม ซึ่งอาจเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสังคมก็ได้
คุณค่าทางสังคม เป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งนั้นก็เป็นที่ปรารถนาของคนในสังคมว่า อยากเดินทางให้ไปถึงจุดนั้น อยากให้มี อยากให้เกิดกับตนและครอบครัว
คุณค่า คือ สิ่งที่คนสนใจ ปรารถนาจะได้ ปรารถนาจะเป็น หรือกลับกลายเป็นสิ่งที่คนบูชา ยกย่อง และมีความสุขที่อยากจะเห็น ได้ฟัง ได้เป็นเจ้าของ
ดังนั้น คุณค่า คือ ความเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะถาวร เชื่อว่า เป็นวิถีปฏิบัติบางอย่าง หรือเป้าหมายของชีวิตบางอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ตัวเขา หรือสังคมเห็นดี เห็นชอบ สมควรที่จะยึดถือปฏิบัติมากกว่า มากกว่าวิธีปฏิบัติหรือเป้าหมายชีวิติอย่างอื่น
โดยที่งานจักสานช่างฝีมือพื้นบ้านของบ้านขอม ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีเอกลักษณ์ เกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่นำวัตถุดิบใน ท้องถิ่นมาประดิษฐ์ มุ่งเน้นความละเอียดอ่อน ปราณีต ในงานฝีมือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยมีปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภูมิปัญญา ดังนี้
1. ความรู้เดิมในเรื่องการจักสาน ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ
2. การสั่งสม การสืบทอดของความรู้ในเรื่องการจักสาน
3. ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ใหม่ได้
4. รากฐานทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ
โดย คุณค่าของงานช่างฝีมือพื้นบ้าน ผ่านการกลั่นกรองความรู้เดิมผสมผสานกับความรู้ใหม่ด้านลวดลายที่บรรจงแต่งแต้มบนงานฝีมือ เป็นสิ่งที่สนใจแก่ผู้พบเห็น มีความปรารถนา จะได้เป็นเจ้าของ สะท้อนมุมมองถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย บริบทในชุมชน ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยปรากฏลวดลายที่เกี่ยวกับลวดลายทางพระพุทธศาสนา สะท้อนชีวิตมุมมองในสังคมของชาวบ้านขอมได้เป็นอย่างดี ที่มีลวดลายอ่อนช้อย มีคุณค่าทางจิตใจ ที่สังคมได้สร้างขึ้นมา และได้รับการประเมินค่าว่า เป็นสิ่งดีงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว
และระดับ 5 ดาว หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย โดยที่กระบวนการสั่งสม สืบทอด กลั่นกรองกันมายาวนานเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ แวดล้อม เพราะพื้นที่ในชุมชนมีไม่ไผ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตนำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน มีการพัฒนา ปรับปรุง มีกระบวนการบริหารจัดการเป้นกลุ่มผู้ผลิต มิได้เพียงมุ่งอยู่ในครัวเรือน หรือ ท้องถิ่น กับนำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้สู่สังคมภายนอก เมื่อได้รับการพัฒนาและส่งเสริม จนภูมิปัญญาเหล่านั้นตกผลึกเป็นภูมิปัญญาไทย โดยมีการสืบทอด พัฒนา องค์ความรู้ในการจักสาน สร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบตรงตามความต้องการของตลาด แต่มุ่งความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานฝีมือพื้นบ้านชาวบ้านขอม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีการสืบทอดกันมา
3. แนวทางเสริมสร้างเพื่อใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง พื้นเพ รากฐานของความรู้ชาวบ้าน ซึ่งได้รับการศึกษา อมรม สั่งสม และถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ หรือ เป็นความรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งได้เรียนรู้จากการทำงานจากธรรมชาติแวดล้อม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เสริมสร้างความสามารถ ทำให้คนมีชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นความรู้ที่สร้างสรรค์ และมีส่วนเสริมสร้างการผลิตภูมิปัญญา งานช่างฝีมือของชาวบ้านขอม เกิดจากการสั่งสม มีการสืบทอด และถ่ายทอด จากบรรพบุรุษ เป็นประสบการณ์ตรงได้เรียนรู้จากการทำงานจากธรรมชาติ แวดล้อม โดยที่พื้นบ้านของชาวบ้านขอมอยู่ริมน้ำบางขาม มีไม้ไผ่จำนวนมาก มีการนำไม้ไผ่มาใช้ทำเครื่องใช้ ต่าง ๆ ในครัวเรือน เครื่องมือประกอบอาชีพ และมีการพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของท้องถิ่น มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครัวเรือนสู่ชุมชนท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่ม รวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นสหกรณ์ มี การบริหารจัดการที่ดี เผยแพร่ประชาสัมพันธ์จากท้องถิ่นสู่ชุมชนเมือง จากชุมชนเมืองสู่ชุมชนประเทศ โดยได้รับการยกย่องเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว และ 5 ดาว โดยที่ภูมิปัญญาของชาวบ้านขอม สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านขอม สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านขอม มีการถ่ายทอด สืบทอด พัฒนา หากแต่ภูมิปัญญางานช่างฝีมือจักสานขาดความสนใจจากเยาวชน หรือชุมชนในท้องถิ่นแล้ว ภูมิปัญญา ดังกล่าว ก็เสี่ยงที่จะสูญหายไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ดังนั้น แนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1. ส่งเสริมการศึกษาถึงคุณค่าภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีอันสำคัญของท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าอันเหมาะสมที่สามารถนำมาปรับใช้ในสังคมปัจจุบันของท้องถิ่นได้
2. ส่งเสริมการฟื้นฟู ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่มีคุณค่าให้กลับมามีความสำคัญ เป็นที่ยอมรับและนับถือเป็นวิถีชีวิตอันสำคัญของท้องถิ่น
3. ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกิจกรรมชุมชน เพื่อเผยแพร่ผลงานภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ
4. ส่งเสริมครู-อาจารย์ ศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการเผยแพร่
5. ส่งเสริมให้สถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ฝึกอบรมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน
6. ส่งเสริมองค์กรภาครัฐ องกรชุมชน และองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยใช้สื่อทุกประเภท
7. พัฒนาสมรรถนะของผู้รู้ ผู้นำชุมชน เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่ม ชมรม เพื่อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญหาย สืบค้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาสร้างองค์ความรู้นำสู่ชุมชน เป็นการถ่ายทอด และสืบสาน
8. ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว สถานบันศาสนา สถาบันการศึกษา ร่วมกันปลูกฝังถ่ายทอดวัฒนธรรมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นการรักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง
9. ส่งเสริมกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจควบคู่กับความตระหนัก เห็นคุณค่า มีความรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปใช้เป็นทางเลือกในการดำรงชีพ

4. ข้อเสนอแนะ
- ผลิตภัณฑ์จักสานตะกร้าหวายลายวิจิตร ของบ้านขอม หมู่ 6 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นงานที่มีความปราณีต ต้นทุนในการผลิตน้อย กลุ่มควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่แก่ประชาชนในหมู่บ้านให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน
- เครื่องมือวัสดุที่ใช้ในการจักสานส่วนใหญ่ เป็นวัสดุภาในท้องถิ่น บางอย่างเป็นวัสดุที่ดัดแปลงจากเครื่องใช้เก่า ๆ ส่วนสีที่ย้อมได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกคาง รากยอป่า ดังนั้น กลุ่มสานตะกร้าหวาย ควรจัดให้มีการอนุรักษ์เพื่อการใช้สอย เช่น การปลูกยอป่า เป็นต้น
- กลุ่มสานตะกร้าหวาย ได้สร้างสรรค์ และพัฒนาลวดลายดอกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน เพื่อการสืบทอดภูมิปัญญาให้กับอนุชนรุ่นหลัง ดังนั้น กลุ่มจักสานหวาย จึงควรบันทึกแบบลายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและอนุรักษ์ เช่น การจัดทำเอกสารประกอบภาพ

จากที่กล่าวมาข้างต้น หากมรดกทางวัฒนธรรมด้านภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่บรรพชน ได้ถ่ายทอดไว้ให้เป็นมรดกทางสังคม ไม่มีการสืบทอด อนุรักษ์ มรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ ก็เสี่ยงต่อการสูญหาย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแต่เราในสังคม เพียงแต่มองผ่านไป ไม่เห็นคุณค่า รากเหง้าของแก่นความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมเอาไว้ มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ก็จะสูญหายไปในระยะเวลาอันใกล้ เพราะยิ่งเราชื่นชมความก้าวหน้า การพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปเท่าไร เรายิ่งมองภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางสังคมว่า ล้าสมัยไปเท่านั้น เราพร้อมหรือยัง ที่จะมองรากเหง้าแก่นแท้ทางสังคมที่มีการสืบทอดสิ่งดีงาม และให้องค์ความรู้นั้นสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อสืบทอดต่อไป หากใช้แนวทางดังกล่าวข้างต้น เชื่อแน่ว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ จะคงอยู่สู่สังคมไทยตลอดไป


ไม่มีความคิดเห็น: